นโยบายการเงินของรัฐบาลนิดหนึ่งกับสภาพเศรษฐกิจไทย
ตลาดเงิน ตลาดทุนไทยปั่นป่วนสุด ๆ bond yield 10 ปี พุ่งทำ New high ขณะที่ค่าเงินอ่อนค่าต่อเนื่องและอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 10 เดือน ส่วนตลาดหุ้นไทยยังถูกเทขายหนักหน่วง 1 ปัจจัยที่สร้างความกดดันให้กับตลาด คือ ความวิตกกังวลจากรัฐบาลที่ใช้เงินจำนวนมาก จึงเป็นประเด็น ที่หลายคนตั้งคำถามว่า “การแจกเงินด้วยวงเงินมากถึง 560,000 ล้านบาท อาจเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้” จะเป็นเพียงแค่ความคิดเห็น หรือมีข้อเท็จจริงอย่างไร? “มีทอง – MeThong” จะมาเล่าให้ฟังครับ
ในโลกปัจจุบันกำลังพบกันอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งกระฉูดแบบที่เราไม่ได้พบเจอในรอบ 10 ปี ซึ่งคนที่พาให้เทรนด์การขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แต่เป็น The Federal Reserve หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นเอง ซึ่งให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อที่ต้องการสกัดเงินเฟ้อ ก่อนหน้านี้เรายังคุ้นชินกับการที่เงินล้นเหลือในระบบ พิมพ์เงินผ่านการทำ QE เมื่อเงินในระบบ ก็กดให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ
สำหรับในไทยที่ผ่านมา ก็มีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสหรัฐ ล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% ซึ่งยังคงต่ำกว่าดอกเบี้ยสหรัฐอยู่กว่าเท่าตัว และด้วยเหตุผลนี้เอง เงินก็จะไหลไปที่ที่ให้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนสูงกว่านั้นเอง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมาก
การแจกเงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท รัฐบาลต้องหาแหล่งเงินทุน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมาจากการกู้เงิน ซึ่งคาดว่าจะเป็นการกู้เงินผ่านธนาคารออมสิน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้นั้นเอง
ปกติแล้ว เวลารัฐบาลจะกู้เงิน ก็จะออกพันธบัตรรัฐบาลให้ตลาดได้ลงทุน จากนั้นรัฐบาลก็จะจ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุน และเมื่อครบกำหนดของระยะเวลาสัญญาก็จะคืนเงินต้นทั้งหมด
ณ ขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ว่ายังขึ้นอยู่กับความคาดหวังของนักลงทุนในอนาคตด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการคาดว่า รัฐบาลจะกู้เงิน 560,000 ล้านบาท จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น (Yield เพิ่มขึ้น) โดยเราเห็นการปรับขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงกันยายนที่ผ่านมา หลังจากมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเหล่านี้ต่อไป โดยต้นทุนในการแจกเงินครั้งนี้
ไม่ใช่แค่เงินต้น 560,000 ล้านบาท แต่ต้องบวกค่าดอกเบี้ยไปด้วย โดยนำ 560,000 ล้านบาท * อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2.5% = 14,000 ล้านบาทต่อปี ที่เป็นต้นทุนของดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินครั้งนี้
ปัจจุบันหากเรากู้เงิน 560,000 ล้านบาท มูลค่านั้นจะมากขนาดไหน เปรียบเทียบด้วย Infrastructure เพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น งบประมาณการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ 120,000 ล้านบาท
เงินที่รัฐบาลกำลังจะแจกตอนนี้ หากเราไม่ใช้เงินนี้ในการแจกจ่ายให้กับประชาชน คนละ 10,000 บาท จะสามารถสร้าง Infrastructure ขนาดใหญ่ของประเทศ อย่างสนามบินสุวรรณภูมิได้ 4.5 ที่เลยทีเดียว
แต่รัฐบาลยังคงแน่วแน่กับการนำเงินก้อนนี้มาแจก เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยต้องการให้เกิดตัว Multiplier effect กับระบบเศรษฐกิจต่อไป แต่นักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ ท่านที่กำลังออกมาให้ความเห็น มองว่าสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังเกิดภาวะวิกฤต นั้นหมายความว่า
“เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็อยู่ในระดับต่ำด้วยเช่นเดียวกัน” แต่ ณ วันนี้ อาจไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อรัฐบาลตัดสินใจแจกเงินก็จะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้น เมื่อเงินเฟ้อไทยสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยิ่งต้องปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้นไว้ และไม่ใช่แค่อัตราดอกเบี้ย แต่ยังมีต้นทุนทางธุรกิจของภาคเอกชนอีกด้วย บางธุรกิจ ณ เวลานี้อยู่ในภาวะที่ ไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ยและเกิดปัญหาสภาพคล่องแล้ว
แน่นอนว่าข้อดีของการใส่เงินเข้าระบบนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิด Multiplier effect ที่มากกว่า 1 แต่ไม่มีใครทราบได้ว่าจะมากกว่า 1 ได้จริงหรือไม่ หากทำได้จริง ก็อาจจะเกิดการกระตุ้นได้เพียงระยะสั้น
และอีกประเด็นสำคัญคือ การใช้ระบบ Blockchain มารองรับการแจกเงินมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด เพราะต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการพัฒนาระบบ ความเสถียรของระบบในการรองรับ transection ของประชาชนมากถึง 50 ล้านคนทั่วประเทศ ทั้ง ๆ ที่เรามีพร้อมเพย์ในแอปกระเป๋าตังค์อยู่แล้ว
แล้วเรากำลังสร้างหนี้อีก 560,000 ล้านบาท ไปเพื่ออะไร ? ในขณะที่เรายังไม่ได้เกิดวิกฤตอะไรเลย ซึ่งตอนนี้เรากำลังใช้เงินก้อนนี้ อย่างไม่เป็นความจำเป็นหรือไม่ คงต้องช่างใจและดูกันต่อไปว่า นโยบายนี้จะช่วยคนไทยได้มากน้อยอย่างไร?
บทความโดยนักวิเคราะห์ นันทภพ นิยมฤทธิ์